การระบาดของโรค COVID-19 สร้างความเครียด ความกลัวและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรค ในด้านต่างๆเช่น กลัวการติดโรคจากคนอื่น มีความวิตกกังวลในเรื่องเสบียงอาหารอาจจะมีไม่พอในช่วงที่ถูกกักกัน อีกทั้งจำนวนผู้ป่วย และตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรค ยังคงมากขึ้นในแต่ละวัน การรับรู้ข่าวเหล่านี้ก่อเป็นเหตุให้เกิดความตระหนก ตื่นกลัว อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงปัญหาอื่นๆดังนี้
- นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารน้อยหรือมากผิดปกติ
- รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า เบื่อ ไม่อยากทำอะไร
- บางคนดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ในระยะนี้อาการอาจกำเริบแปรปรวน
สิ่งที่ควรทำ เพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียด
- ดูแลร่างกายและจิตใจ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกลมหายใจ สร้างสมาธิ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด
- พูดคุยกับผู้อื่น
แบ่งปันเรื่องที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล ปรึกษา และคุยกับเพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างระบบสนับสนุนที่ดีในครอบครัว
- หางานอดิเรก
ทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบเป็นวิธีที่ดีในการช่วยผ่อนคลายความเครียด
- เลือกฟังข้อมูล
เลือกแหล่งข้อมูล ข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลมาจากกระทรวงสาธารณสุข และหลีกเลี่ยงการรับข้อมูล และ ข่าวมากเกินไป หยุดพักจากการดู การอ่าน หรือการฟังข่าว ซึ่งทำให้เกิดความวิตก กังวลเพิ่มขึ้น
- การปรับตัว
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานที่บ้าน การกักกันตนเองในบ้าน อาจทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- ขอความช่วยเหลือ
เมื่อไม่สามารถจัดการหรือรับมือกับความเครียด ความวิตก กังวล สามารถปรึกษาออนไลน์ สายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 อีกช่องทางหนึ่ง
แหล่งที่มาของข้อมูล
Stress and Coping, Coronavirus 2019 (COVID-19), https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/daily-life-coping/managing-stress- สืบค้นข้อมูล 7/04/63
Taking Care of Your Emotional Health, Emergency Preparedness and Response https://emergency.cdc.gov/coping/selfcare.asp สืบค้นข้อมูล7/04/63
คำแนะนำด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมในช่วงการระบาดของ COVID-19 Mental Health and Psychosocial Considerations During COVID-19 Outbreak 12 มีนาคม 2563 แปลและเรียบเรียงโดย อ. นพ. ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยhttps://www.dmh.go.th/covid19/download/view.asp?id=31 สืบค้นข้อมูล7/04/63
โควิด-19กับสุขภาพจิต , กรมสุขภาพจิตhttps://www.dmh.go.th/ สืบค้นข้อมูล7/04/63
อย่ารังเกียจคนติดโควิด-19 อยู่บ้านตัวเองโรคแพร่มาไม่ได้,นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873223 สืบค้นข้อมูล 8/04/63